คำถามที่ว่า “ผีมีจริงหรือไม่?” นี้ มีคำตอบมากมาย
ขึ้นอยู่กับว่า ถามเมื่อไหร่ ถามที่ไหน และถามใคร..
ถ้าเราเอาคำถามนี้ ไปถามคนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ขึ้นไป
จนถึงกรุงสุโขทัย
คนที่ถูกถามคงมองเราแปลกๆ แล้วก็คงนึกในใจว่า “ถามทำไม”
คนในยุคดังกล่าวนั้น เชื่อเรื่องผีกันเป็นปกติว่า ผีมีอยู่
มีจริง บางคนก็เห็นผีได้ บางคนก็ถูกผีหลอก
แต่ละคนไม่สงสัยในความมีอยู่ของผี
ยกตัวอย่างง่ายๆ แบบนักปรัชญาก็คือ คนโบราณเชื่อว่า ผีมีจริง
เช่นเดียวกับที่เชื่อพรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็จะขึ้นทางทิศตะวันออกเหมือนเดิม
ตรงนี้ ต้องขอขยายความสักนิด..
ในการเรียนปรัชญานั้น จะฝึกให้ผู้เรียนคิด
โดยใช้หลักการทางตรรกวิทยา ญาณวิทยา ฯลฯ
การที่พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกนั้น ไม่ใช่ความจริงเสมอไป
พระอาทิตย์มีโอกาสที่จะไปขึ้นทางทิศอื่นบ้างก็ได้ แต่ตามปกติมันก็ขึ้นทางทิศตะวันออกนั่นแหละ
คนทั้งโลกถึงเชื่อกันอย่างนั้น
จะเห็นว่า คำถามที่ว่า “ผีมีจริงหรือไม่?”
ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ขึ้นไป
คงไม่มีใครถามกัน เพราะ ทุกคนเชื่อเป็นปกติธรรมดา
ถ้าเอาคำถามดังกล่าวมาถามในยุคปัจจุบัน ซึ่งโดยสภาพของความเป็นจริง
ก็มีการถามกันโดยทั่วไป และก่อให้เกิดข้อโต้แย้งถกเถียงกันวุ่นวาย
น่าสงสัยว่า คำตอบจะเป็นยังไง คำตอบจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าถามที่ไหน และถามใคร..
คำถามที่ว่า “ผีมีจริงหรือไม่?” ถ้าไปถามประชาชนตามชนบท ที่เรียนในโรงเรียนของระบบการศึกษาปัจจุบันไม่มากนัก ส่วนใหญ่พอจบการศึกษาภาคบังคับก็เลิกเรียนแล้ว
มีจำนวนเยอะมากเลย ที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งเมื่อก่อนก็คือ
ป. 4 ก็ออกมาทำมาหากินแล้ว
คำตอบที่ได้รับก็คือ พวกเขาเชื่อว่าผีมีจริง แต่คงจะไม่สงสัยว่า “มาถามทำไม” เพราะคนในยุคนี้ ต่างก็รู้แล้วว่า
มีคนอีกกลุ่มหนึ่งสงสัยในความมีตัวตนของผีกันแล้ว ว่ามันมีจริงหรือเปล่า
คำถามที่ว่า “ผีมีจริงหรือไม่?” ถ้าไปถามคนในเมืองที่ได้รับการศึกษากัน
คำตอบก็จะออกเป็น 2 แนวคือ
1- มีจริง
2- ไม่มี
กลุ่มที่ตอบว่า “มีจริง”
นั้น ถึงแม้จะได้รับการศึกษาที่มากพอสมควร
แต่ก็ยังคงเชื่อคำสอนของศาสนาพุทธอยู่ เชื่อว่า
นรก สวรรค์ มีจริง
ใครทำกรรมชั่วก็ต้องตกนรก ใครทำความดีก็ต้องขึ้นสวรรค์ จึงเชื่อตามไปถึงเรื่องผีด้วยว่า “ผีต้องมีจริง”
ผมซึ่งจบปรัชญาดุษฎีบันฑิต (สหวิทยาการ) ก็อยู่ในกลุ่มนี้
กลุ่มที่ตอบว่า “ไม่มี” นั้น
เชื่อไปตามหลักสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่ว่า “สิ่งที่มีอยู่จริง
ต้องสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย”
อะไรก็ตาม ไม่เฉพาะเรื่องผี ถ้าสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5
ไม่ได้แล้ว “สิ่งนั้นไม่มี”
ในยุคนี้ คนที่อยู่แวดวงเรื่องผีๆ
จึงจะได้ยินประโยคที่ว่านี้อยู่เสมอ คือ “ผีไม่มีจริง
เพราะพิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์”
ประโยคอมตะวาจาที่ว่านี้ กล่าวคือ “ผีไม่มีจริง
เพราะพิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์”
จะถูกเอามาเป็นหลักฐานสนับสนุนของฝ่ายที่เชื่อวิทยาศาสตร์เสมอ
เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายที่เชื่อวิทยาศาสตร์ไปลากเอาประโยคนี้ออกมา ฝ่ายที่เชื่อว่า “ผีมีจริง”
ก็ไปไม่ถูกเหมือนกัน เพราะ ไม่รู้จะไปเถียงอย่างไร
เพราะสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ได้สร้างความเจริญทางวัตถุให้กับโลกอย่างมากมายมหาศาล
ทุกวันนี้ก็อยู่ในภาพแวดล้อมของความเจริญทางวิทยาศาสตร์นี่แหละ..
การที่วิทยาศาสตร์มันทำอะไรได้มาก ทำอะไรได้เยอะ ทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้นอย่างมหัศจรรย์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เองก็หลงเชื่อไปว่า “วิทยาศาสตร์คือความจริงสูงสุด”
เมื่อหลงผิดคิดไปว่า “วิทยาศาสตร์คือความจริงสูงสุด”
ก็เลยเอามาตรฐานในทางวิทยาศาสตร์ไปเป็นตัวชี้วัดว่า “อะไรจริง
อะไรไม่จริง”
สิ่งไหนวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับ หรือเข้าไม่ได้กับวิทยาศาสตร์
สิ่งนั้นไม่จริงทั้งหมด
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ
พวกที่เชื่อวิทยาศาสตร์ไปตีตราชี้หน้าฝ่ายตรงข้ามว่า “งมงาย”, “ล้าสมัย”,
“ตกยุค” ต่างๆ นานา แล้วแต่จะว่ากันไป
อย่างไรก็ดี อย่างที่ได้บอกไปแล้วข้างต้นว่า ในฐานะที่ผมเรียนจบปรัชญาดุษฏีบัณฑิต
(สหวิทยาการ) ได้เรียนปรัชญาต่างๆ
โดยเฉพาะปรัชญาวิทยาศาสตร์
ความรู้ในยุคนี้พิสูจน์มาแล้วว่า“วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความจริงสูงสุด”
วิทยาศาสตร์ยังไม่ใกล้เคียงความจริงสูงสุดหรือแม้แต่น้อย
ยิ่งวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไกของนิวตัน
ที่คนไทยรู้จักกันเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งห่างไกลความจริงสูงสุด และไม่มีทางค้นพบได้ด้วย
วิทยาศาสตร์นั้น ท่านผู้รู้เขาแบ่งออกเป็น 2 ยุค พูดให้เข้าใจอย่างง่ายที่สุดก็คือ
ยุคของวิทยาศาสตร์แบบนิวตัน กับยุคของวิทยาศาสตร์แบบไอน์สไตน์
วิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไกของนิวตันบอกว่า แสงเดินทางเป็นเส้นตรง ซึ่งก็เป็นความจริง นิวตันไม่ได้โกหก
แต่วิทยาศาสตร์แบบไอน์สไตน์พบว่า แสงเดินทางเป็นเส้นตรงเฉพาะในโลกของเรา แต่ในจักรวาลแสงจะเดินทางเป็นเส้นโค้ง
เฉพาะประเด็นเรื่องแสงนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า วิทยาศาสตร์แบบนิวตัน
กับวิทยาศาสตร์แบบไอน์สไตน์ถูกทั้งคู่
แต่ความจริงของวิทยาศาสตร์แบบนิวตันแคบกว่าความจริงของวิทยาศาสตร์แบบไอน์สไตน์
วิทยาศาสตร์แบบของนิวตันบอกว่า เวลาของเราคงที่ แต่วิทยาศาสตร์แบบไอน์สไตน์บอกว่า เวลาไม่คงที่
ขึ้นอยู่กับความเร็วและแรงโน้มถ่วง
เรื่องเวลานี้ จะว่าวิทยาศาสตร์แบบของนิวตันผิดก็ไม่ได้ จะว่าถูกก็ไม่ได้ เพราะเวลาของคนทุกคนต่างกันก็จริง
แต่มันวัดความต่างกันของเวลาไม่ได้
เวลาของทุกคนจึงดูเหมือนกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ประโยคอมตะวาจาที่ว่า “ผีไม่มีจริง
เพราะพิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์”
จึงถูกตั้งข้อสงสัยว่า “เรื่องผี
ทำไมจะต้องพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์”
ผมยังไม่พบสาขาวิชาของวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องผีมาก่อนเลย ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายก็คือ วิชา “ผีวิทยา” ไม่มีเรียนในระบบการศึกษาของโลก
นักวิทยาศาสตร์เขาไม่เคยเรียนเรื่องผี
แล้วจะเอาวิทยาศาสตร์ไปพิสูจน์เรื่องผีได้อย่างไร
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะ
ในการจะฟันธงหรือตัดสินใจในเรื่องใด ประเด็นใด ผู้จะที่ตัดสินนั้น ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ
และต้องได้รับการยอมรับกันในทางวิชาการ
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง “ผี”
แล้วจะเอาวิทยาศาสตร์มาตัดสินเรื่องผีได้อย่างไร
ผู้ที่เชื่อวิทยาศาสตร์หลายคน
บางคนก็มีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย พยายามใช้เครื่องมือในทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่า
“ผีมีหรือไม่มี” เช่น
พยายามเอากล้องไปถ่ายในป่าช้า ฯลฯ เป็นต้น
ผมว่า ถ้าผีมันยืนมองอยู่
ผีมันคงนึกว่า “ไอ้พวกนี้ มันบ้าไปแล้ว”
จะเห็นได้ว่า ในเมื่อมนุษย์มี
ผีก็มี เพราะ มนุษย์หรือคนเมื่อตายไปแล้วมันเป็นผี
คนทุกคน 18 กายซ้อนกันอยู่
มีกายหยาบสุดหรือกายเนื้อที่มองเห็นได้ง่าย
ที่เหลือ 17 กาย เป็นกายละเอียด
กายละเอียดทั้ง 17 กายนี่แหละคือ “ผี” ที่เราถกเถียงกันว่า “มีหรือไม่มี”
การที่ผีกับคนแตกต่างกันที่มีกายเนื้อกับไม่มีกายเนื้อเท่านั้น คนคิดอะไรได้ ผีก็คิดอะไรได้เหมือนกัน
คนทำอะไรได้ ผีก็ทำอะไรเหมือนกัน แต่ไม่มีความสามารถเท่าคน เพราะ
ขาดเครื่องมือสำคัญคือกายเนื้อ
-------------------------
เขียนโดย ดร. มนัส โกมลฑา Ph.D. (สหวิทยาการ)
www.manaskomoltha.net
Facebook Fanpage: https://www.facebook.com/manas4299/
Line ID : manas4299
Youtube: https://www.youtube.com/user/mommeam4299/
โทรศัพท์ : 083-4616989
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น